ดร.ธเนศ วีระศิริ
ที่ปรึกษา เลขาธิการ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวเรื่องบ้านร้าว บ้านทรุด และดินยุบตัว 3-4 แห่ง มีอยู่ที่หนึ่งเป็นทาวน์เฮาส์ทรุดตัวลงทั้งแถบประมาณ 7-8 ห้องทั้งที่อยู่มาประมาณ 30 ปีแล้ว บางแห่งเข้าอยู่ไม่นานเกิดรอยแตกร้าวแล้ว และพบว่ามีเสาบ้านบางต้นหักพับลงมา ประชาชนโดยทั่วไปเริ่มไม่มั่นใจว่าอาคารที่ตนพักอาศัยจะมีปัญหาเช่นว่านี้หรือไม่ หากพบปัญหาเหล่านี้จะแก้ปัญหาอย่างไร ถึงขั้นที่ต้องทุบบ้านทิ้งเลยมั้ย การจะซื้อบ้านใหม่สักหลังคงไม่ใช่เรื่องง่าย ลำพังแค่ซื้อบ้านหลังแรกก็ลำบากจะแย่อยู่แล้ว สำหรับผู้ที่กำลังก่อร่างสร้างตัวคิดจะซื้อบ้านสักหลังจะมั่นใจได้อย่างไรว่าซื้อแล้วไม่ประสบปัญหาเช่นที่เป็นข่าวอยู่
ในที่นี้จะเล่าถึงลักษณะปัญหาการทรุดตัว และปัญหาดินรอบบ้านยุบตัว รวมถึงสาเหตุที่เป็นไปได้ของปัญหาเหล่านั้น เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้เข้าใจ และทราบว่าโอกาสเกิดเหล่านั้นจะมีมากน้อยเพียงใด เวลาจะเลือกซื้อบ้านหรือเมื่อเกิดปัญหาเช่นว่านี้จะแก้ไขอย่างไรให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ
ปัญหาบ้านพักอาศัยมาหลายสิบปีจะเกิดการทรุดตัวได้หรือไม่
ปกติแล้วบ้านจะทรุดตัวจมลงดินได้จะต้องมีปัญหามาจากฐานราก ซึ่งคำว่าฐานรากนั้นหมายรวมถึง เสาเข็ม แป้นครอบหัวเสาเข็ม และเสาตอม่อ บ้านควรวางอยู่บนเสาเข็มที่มีขนาด และความยาวเพียงพอ ซึ่งความยาวเพียงพอที่ว่านี้คือปลายเสาเข็มต้องวางอยู่ในชั้นดินเหนียวที่มีความแข็ง หรือชั้นทรายแน่นตามที่วิศวกรออกแบบกำหนด โดยเสาเข็มต้องไม่หักหรือสั้นกว่าที่กำหนด เสาเข็มต้องไม่เยื้องตำแหน่งกับเสาตอม่อ (เสาตอม่อ คือ เสาสั้นที่อยู่เหนือแป้นครอบหัวเสาเข็ม) ทั้งเสาเข็ม แป้นครอบหัวเสาเข็ม และเสาตอม่อนั้นเราจะไม่สามารถมองเห็นได้เพราะทั้งสามส่วนนี้อยู่ใต้พื้นชั้นล่างของบ้าน
หากเสาเข็ม แป้นหัวเสาเข็ม หรือเสาตอม่อส่วนใดส่วนหนึ่งเกิดการชำรุดแตกหัก บ้านจะทรุดตัวเพราะส่วนของฐานรากไม่สามารถส่งถ่ายน้ำหนักของบ้านลงไปยังดินด้านล่างได้ บ้านหรืออาคารจะเกิดการทรุดตัวทันทีไม่ต้องรอให้มีผู้เข้าพักอาศัยแต่อย่างใด ดังนั้นเมื่อจะซื้อบ้านควรหมั่นเข้าไปตรวจเข็คก่อนรับมอบบ้านบ่อย ๆ หากมีร่องรอยการซ่อมแซมรอยร้าว ต้องทำการตรวจสอบให้มั่นใจว่ารอยร้าวนั้นไม่ได้เกิดจากฐานรากชำรุดบกพร่อง เพราะรอยร้าวจะปรากฎให้เห็นในช่วงแรก ๆ โดยไม่ต้องรอทิ้งช่วงเวลาถ้าฐานรากของบ้านมีปัญหา
ดังนั้นบ้านที่อยู่มานานหลายสิบปีแล้วจึงค่อยเกิดการทรุดตัวนั้นจะต้องไม่ใช่เกิดขึ้นจากฐานรากของบ้านมีปัญหา แต่มักพบว่าเกิดขึ้นจากการต่อเติมอาคาร ไม่ว่าจะเป็นการต่อเติมด้านหลัง ด้านข้าง หรือเพิ่มจำนวนชั้นของบ้าน เหล่านี้ล้วนทำให้เกิดปัญหาทั้งสิ้น ด้วยเหตุที่การต่อเติมบ้านมักจะไม่สามารถใช้เสาเข็มยาวเท่ากับเสาเข็มของบ้านหลักได้เพราะพื้นที่ส่วนต่อเติมมีจำกัด ส่วนต่อเติมที่วางบนเสาเข็มสั้นจะทรุดตัวเกิดรอยแยกบริเวณตำแหน่งที่เป็นรอยต่อกับตัวบ้านหลัก และถ้าหากมีการเชื่อมส่วนต่อเติมเข้ากับตัวบ้านหลักด้วยแล้ว การทรุดตัวของส่วนต่อเติมจะดึงบ้านหลักให้ทรุดตัวตามไปด้วย หากการทรุดตัวเกิดขึ้นต่อเนื่องไม่ได้ทำการแก้ไข เสาเข็มจะบิดหักไม่สามารถแบกรับน้ำหนักของตัวบ้านได้ต่อไป เป็นผลทำให้บ้านทรุดตัวลงอย่างรวดเร็วมีรอยแตกร้าวปรากฏขึ้นมากเป็นลักษณะที่เรียกว่าอาคารวิบัติ
ปัญหาดินรอบบ้านยุบตัว
ดินช่วงบนบริเวณพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เช่น สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร ส่วนใหญ่เป็นดินเหนียวอ่อน โดยทั่วไปจะมีการยุบตัวอย่างต่อเนื่อง การก่อสร้างอาคารบ้านเรือนในเขตพื้นที่ดังกล่าวจึงต้องใช้เสาเข็มที่มีความยาวหยั่งลึกลงในชั้นดินเหนียวแข็ง หรือทรายแน่นที่สามารถแบกรับน้ำหนักบรรทุกจากตัวบ้านเรือนได้เพียงพอ รวมถึงการยุบตัวของดินเหนียวช่วงบนต้องไม่ส่งผลกระทบกับตัวเสาเข็มของบ้าน กรณีที่การก่อสร้างบางแห่งทำการถมดินเพื่อให้พื้นดินมีความสูงขึ้นจากเดิมเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาน้ำท่วม หรือต้องการปรับระดับให้ดินมีความสูงเท่า ๆ กัน ดินที่นำมาถมก็มีโอกาสยุบตัวลงด้วยเช่นกัน และมีโอกาสที่จะยุบตัวมากกว่าดินเดิมด้วย
เมื่อดินโดยรอบบ้านยุบตัว ขอให้ทราบเลยว่าดินใต้บ้านก็ยุบตัวด้วย เจ้าของบ้านมักจะเป็นกังวลว่าจะทำอย่างไรดีกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ข้อสงสัยมีว่าหากถมดินเพิ่มเพื่อให้ระดับดินสูงเท่าในอดีตนั้นดินจะยุบตัวอีกหรือไม่ ดินใต้บ้านที่ยุบไปนั้นต้องถมดินใต้บ้านด้วยใช่หรือไม่
คำตอบก็คือ แม้จะถมดินรอบตัวบ้านให้มีระดับสูงเท่าในอดีต อนาคตเพียงไม่กี่ปีดินก็จะยุบตัวได้อีกเช่นกัน และหากบดอัดดินไม่ดีจะยุบตัวเร็วด้วย การยุบตัวของดินเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยากแต่สามารถควบคุมให้มีการยุบตัวในอัตราที่ช้าลงได้ด้วยการเลือกใช้วัสดุที่เหมาะสม และทำการบดอัดให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ สำหรับบริเวณพื้นที่ใต้บ้านไม่ควรถมดินเพิ่มเข้าไป เพราะจะเป็นการเพิ่มน้ำหนักให้ฐานรากของบ้าน และทำให้ฐานรากทรุดตัว เมื่อไม่ถมดินใต้บ้านควรทำแผงป้องกันดินไหลจากนอกบ้านเข้าไปใต้บ้าน แผงป้องกันดินไหลควรอยู่บริเวณขอบคานคอดิน ซึ่งวิธีนี้แก้ปัญหาในหลายพื้นที่แล้วได้ผลดี
พื้นที่จอดรถเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ต้องพิจารณาเพราะพื้นของลานจอดรถส่วนใหญ่เป็นพื้นวางบนดิน เมื่อดินรอบบ้านทรุดตัวพื้นโรงจอดรถก็ทรุดตามด้วย แม้จะถมดินใหม่ก็ควรทราบว่าอนาคตดินที่ถมนั้นย่อมเกิดการยุบตัว แต่การแก้ปัญหาไม่ให้พื้นลานจอดรถเกินการแตกร้าวหรือทรุดตัวไม่เท่ากัน อาจเลือกใช้วิธีการตอกเสาเข็มสั้น 4-6 เมตร ตอกแบบปูพรมระยะห่างประมาณ 1.00 - 1.50 เมตร แล้ววางพื้นคอนกรีตลานจอดรถลงบนเสาเข็ม วิธีนี้จะทำให้พื้นลานจอดรถทรุดตัวเป็นแผงไม่แตกร้าว
ปัญหาฐานรากทรุดตัวไม่เท่ากัน
กรณีฐานรากทรุดตัวไม่เท่ากันอาจมีสาเหตุมาจาก เสาเข็มวางอยู่บนดินต่างชนิดกัน เสาเข็มบกพร่องแตกหัก หรือ เสาเข็มเยื้องตำแหน่งกับเสาบ้าน ด้วยสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งนี้ฐานรากในบ้านจะทรุดตัวแตกต่างกันแล้วทำให้เกิดการแตกร้าว การทรุดตัวที่เกิดขึ้นนี้ต้องแก้ไขด้วยการเสริมเสาเข็มในฐานรากที่พบความบกพร่อง การแก้ไขควรมีวิศวกรกำกับดูแลและทำการวิเคราะห์แนวทางการแก้ไขทั้งหมด
กล่าวโดยสรุป
· การต่อเติมบ้านโดยใช้เสาเข็มสั้นเป็นเหตุให้บ้านเกิดการแตกร้าวได้ และขั้นรุนแรงอาจดึงตัวอาคารหลักให้ทรุดตัวจนถึงขั้นแตกร้าววิบัติได้
· ถ้าเกิดเหตุดินรอบบ้านยุบตัว ขั้นแรกควรตรวจดูบ้านว่าแตกร้าวหรือทรุดเอียงหรือไม่ หากไม่แตกร้าวหรือทรุดเอียง สบายใจได้ในลำดับแรกว่าเสาเข็มของบ้านวางอยู่บนเสาเข็มที่มีความยาวเพียงพอ หากแตกร้าวแสดงว่าเสาเข็มแบกทานน้ำหนักบ้านไม่ไหวด้วย ลำดับถัดไปเสนอแนะให้แก้ไขดังนี้
o ทำแผงกันดินลึกประมาณ 50-80 เซนติเมตรรอบบ้านตลอดแนวคานคอดิน แผงที่ใช้อาจเป็นคอนกรีตยึดติดกับคานคอดิน แต่ต้องติดแผ่น metal sheet ผิวเรียบที่แผงป้องกันดินไหลด้วย เพื่อไม่ให้ดินรอบบ้านดึงแผงคอนกรีตลงขณะที่เกิดการยุบตัวเพิ่ม
o ถมดินตามระดับที่ต้องการด้วยวัสดุคัดเลือกที่เหมาะสมในการบดอัด และทำการบดอัดให้แน่นทุก 30 เซนติเมตร ระดับของดินถมไม่ควรให้สูงเกินกว่าระดับดินที่เคยถมไว้เดิม
o พื้นของลานจอดรถควรเป็นพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กวางบนเสาเข็มสั้นที่ตอกลงดินแบบปูพรม ระยะห่างระหว่างเสาเข็ม 1.00 - 1.50 เมตร เสาเข็มมีความลึก 4 - 6 เมตร ทั้งนี้เพื่อให้ลานจอดรถทรุดตัวตามดินที่ยุบตัวอย่างเป็นระเบียบ
สำหรับบ้านที่แตกร้าวเพราะฐานรากทรุดตัวต่างระดับกันนั้น ควรทำการแก้ไขด้วยการเสริมเสาเข็ม แต่ก่อนเสริมเสาเข็มควรสำรวจการทรุดตัวของบ้านทั้งหลัง วิเคราะห์สาเหตุการทรุดตัวให้แน่นอน ซึ่งควรอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของวิศวกร
วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดกิจกรรมคลินิกช่างให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนเกี่ยวกับปัญหาเรื่องบ้านทุกวันเสาร์สุดท้ายของเดือน ตั้งแต่เวลา 13.00 - 17.00 น ซึ่งเป็นบริการฟรี ประชาชนท่านใดที่สนใจสามารถมาขอรับคำปรึกษาได้ที่อาคารวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ ซอยรามคำแหง 39 แขวงพลับพลา เขตวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร โทรศัพท์ 0-2184-4600-9
credit : http://eitprblog.blogspot.com/2015/07/blog-post_7.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น